กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab)

ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ หน้าที่ “คน” มีส่วนร่วมป้องกัน
April 19, 2021

ทำไมต้องมีความร่วมมือ 

ปัญหา ความท้าทาย สภาพสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า VUCA World ซึ่งมาจากคำว่า ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความกำกวม (Ambiguity) โดยรวมแล้วหมายถึงเป็นสภาวะที่ยากต่อการคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความสลับซับซ้อนของปัญหาต่าง ๆ เป็นปัญหาซึ่งยากต่อการแก้ไข เป็นปัญหาเชิงระบบ และไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ผู้นำคนใดคนหนึ่งจะสามารถแก้ไข สร้างการเปลี่ยนแปลงได้โดยลำพัง การบริหารจัดการประเทศ สังคม ชุมชน องค์กรหรือทีมงานในแบบเดิมที่เน้นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่แน่นอน การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดโดยผู้นำ การเคร่งครัดต่อกฏระเบียบหรือมาตรฐานที่กำหนด หรืออื่น ๆ อาจจะทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อสภาวะการณ์ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากที่ปัญหาทางสังคม สิ่งแวดล้อมยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความพยายามแก้ไขกันอย่างมากมาย ในด้านเศรษฐกิจมีองค์กรและหน่วยงานที่เคยประสบความสำเร็จหลายแห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากการดำเนินการขององค์กรไม่สอดคล้องต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

การที่จะทำให้การรับมือ แก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ปัญหาเชิงระบบมีโอกาสเป็นไปได้ และองค์กรสามารถอยู่ใน VUCA World ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญคือผู้นำ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย และองค์กรจะต้องตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 

 วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ กับการขับเคลื่อนดำเนินการตามกลยุทธ์เป็นคนละเรื่องเดียวกัน อย่างที่เคยได้ยินประโยคหนึ่งที่ว่า “Please mind the gap between Strategy and Execution.” ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สิ่งที่สำคัญสองประการคือ การตระหนักรู้ในความซับซ้อนของความท้าทาย หรือปัญหา และการสร้างเครือข่าย สร้างความร่วมมือ จากทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง

ผลลัพธ์ความสำเร็จต่อผู้นำ ผู้เข้ากระบวนการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ผู้นำ ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมกันเรียนรู้และเข้าใจปัญหา ความท้าทาย ตระหนักรู้ เข้าในระบบที่สมบูรณ์มากขึ้น ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย ร่วมกันออกแบบ วางแผนการทำงานร่วมกัน รวมถึงไปร่วมกันทดลองขับเคลื่อน และนำผลการทดลองดังกล่าวกลับเข้ามาที่ห้องปฏิบัติการทางสังคมเพื่อร่วมกันเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อะไรคือความร่วมมือที่แท้จริง

ความร่วมมือมิใช่เป็นเพียงข้อตกลงหรือสัญญาที่จะร่วมมือกัน ความร่วมมือที่แท้จริงคือการกระทำ การลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในโครงการใด โครงการหนึ่ง โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์กับทุกคนโดยส่วนรวม ดั่งคำพูดของอาจารย์ปีเตอร์ เซ็นเก้ เคยกล่าวไว้ว่า ความร่วมมือที่แท้จริงคือการกระทำเพื่อประโยชน์ของคนโดยส่วนรวม (The True Collaboration is Action for Common Good.)

รู้จักนวัตกรรมในการสร้างความร่วมมือที่เรียกว่า

 “Social Lab หรือกระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม”

กระบวนการ Social Lab หรือกระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม คือกลยุทธ์ คือนวัตกรรมในการสร้างผู้นำร่วม (Collective Leadership) คือกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ คือการสร้างพื้นที่ (Space) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย (Safe Space) ลักษณะคล้ายกับห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ที่ให้นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ ค้นหาและทดลองได้อย่างปลอดภัย

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยของกระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคมก็เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการทดลองปฏิบัติการร่วมกันของผู้นำ  ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้กำหนดนโยบาย หรือในหลายกรณีอาจรวมคู่ขัดแย้ง ผู้ที่เห็นต่าง เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมกันเรียนรู้ และเข้าใจความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ รวมถึงร่วมกันตระหนัก รับรู้ถึงความท้าทายต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว และร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ ออกแบบ โดยพื้นที่ที่สร้างขึ้นมา จะเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ทุกฝ่าย ได้มีโอกาสเปิดใจร่วมเรียนรู้ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ได้ร่วมคิด ทดลองทำงานร่วมกันโดยร่วมกันออกแบบและสร้างต้นแบบ สร้างความร่วมมือทำงานในแนวราบ เพื่อก่อให้เกิดแนวคิด และอาจรวมถึงนวัตกรรมสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ตอบสนองความท้าทาย รวมถึงสร้างวิธีการทำงานร่วมกันร่วมกันแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยมีเป้าหมายร่วมที่ยิ่งใหญ่ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด และสร้างต้นแบบ (Prototype) เพื่อทดลองเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Systems Change) ร่วมกัน ในวิธีและวิถีการทำงานร่วมกันแบบใหม่ ที่เรียกว่าการสร้างวัฒนธรรมความร่วมมือ (Collaborative Culture)

เป้าหมายของการจัดกระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab Workshop)

  1. เพื่อสร้างพื้นที่กลาง พื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ผู้นำ ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ผู้ที่กำหนดนโยบาย ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เรียนรู้ร่วมกัน สามารถแลกเปลี่ยน พูดคุย คิดออกแบบ การพัฒนา การสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน  
  2. เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันร่วมกัน และเห็นระบบ (Systems) ที่สมบูรณ์ขึ้น ความเชื่อมโยงในประเด็นต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
  3. เพื่อสร้างความเข้าใจและความรู้สึกร่วมถึงเป้าหมายและความท้าทายร่วมกัน
  4. เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ถึงการขับเคลื่อนที่แต่ละส่วนดำเนินการอยู่และหรือกำลังจะดำเนินการ
  5. เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการสร้างและกำหนดเป้าหมายร่วม เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

กระบวนการหลักๆ ในการดำเนินงาน ห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab)

  1. คณะทำงานรวบรวมแนวคิด ร่วมกับเจ้าภาพร่วม (Organizing Team) เป็นการรวมตัวกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ มีส่วนได้เสียที่สำคัญในประเด็นปฏิรูป ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อค้นหาประเด็นร่วม รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาและความท้าทายร่วมกัน และร่วมกันค้นหาเชื้อเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วม  เพื่อร่วมกันกำหนดประเด็นการปฏิรูป เป้าหมาย วัตถุประสงค์ที่ต้องการ
  2. กระบวนการสืบค้น ค้นหา เชื้อเชิญ รวบรวม (Mapping & Convening) ผู้เข้าร่วมกระบวนการ  โดยมีเงื่อนไขปัจจัยความสำเร็จ ดังนี้
    1. สืบค้น ค้นหา เชื้อเชิญ ผู้นำ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งอาจรวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ภายนอกองค์กรที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกัน กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลายทั้งบทบาทอำนาจหน้าที่และมุมมองในประเด็นปฏิรูป โดยมีคุณสมบัติผู้เข้าร่วมกระบวนการที่สำคัญ 3 ประการคือ Insightful (มีความรู้ ประสบการณ์ รู้จริงในประเด็นปฏิรูป) Influential (มีบทบาทสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ หรือโน้มน้าวผู้อื่นในมาร่วมขับเคลื่อนได้) & Interested (Commitment to Drive Change) (มีความปรารถนา เห็นประโยชน์จากการที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง)
    1. สามารถเข้าร่วมกระบวนการได้ตลอดกระบวนการ ระยะเวลาขั้นต่ำ ต่อหนึ่งรอบคือ 3 วัน (ประมาณ 20 ชั่วโมง) ระยะเวลาดังกล่าว มีเพื่อให้เพียงพอให้ผู้นำ ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อความท้าทาย เกิดความตระหนักรู้ถึงความสลับซับซ้อนของประเด็น สถานการณ์ ความท้าทายของระบบ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ต้องการมีส่วนร่วม มีความปรารถนา ที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้นตอ รากของปัญหา มิใช่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับปรากฏการณ์ (Events)
  3. Pre-Social Lab (Engaging) กระบวนการ เตรียมความพร้อมและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมเป้าหมาย ที่จะเชิญเข้าร่วมกระบวนการ โดยการแนะนำโครงการ เป้าหมาย สร้างความคุ้นเคยกับผู้เข้าร่วม รวมถึงการเก็บข้อมูล ความเห็นเบื้องต้นในประเด็นปฏิรูป  โดยการพูดคุย อาจเป็นการสัมภาษณ์ตัวต่อตัว สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ หรือให้ผู้ที่ถูกเชิญเข้าร่วมกระบวนการตอบแบบสอบถามที่ออกแบบไว้ หลังจากนั้นทีมคณะทำงานจะรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์มาจัดทำเป็นรายงาน Pre-Social Lab เพื่อใช้เป็นข้อมูลนำเข้า (Input) ในกระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคมต่อไป โดยรายงานดังกล่าว มิใช่การวิเคราะห์เพื่อสรุปบทสัมภาษณ์ หากแต่จะเป็นการรวบรวมความเห็น ข้อมูลโดยตรงจากการสัมภาษณ์ของผู้เข้าร่วมกระบวนการ
  4. กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab Workshop) คือกระบวนการสร้างพื้นที่ พื้นที่กลาง พื้นที่ปลอดภัยเพื่อการทดลองปฏิบัติการร่วมกันของผู้นำ  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือในหลายกรณีอาจรวมผู้ที่มีความเห็นต่าง คู่ขัดแย้ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบ สร้างพื้นที่กลางของ Actors ตัวจริงในประเด็นการปฏิรูป เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมกันเรียนรู้ และเข้าใจความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ รวมถึงร่วมกันตระหนัก รับรู้ถึงความท้าทายต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว และร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ ออกแบบ โดยพื้นที่ที่สร้างขึ้นมา เป็นพื้นที่ที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสเปิดใจ เปิดความคิด ร่วมเรียนรู้ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ได้ร่วมออกแบบ สร้างต้นแบบความ ร่วมมือ ทดลองทำงานร่วมกันในแนวราบ เพื่อก่อให้เกิดแนวคิดและอาจรวมถึงนวัตกรรม เพื่อสร้างหรือรองรับการเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย รวมถึงวิธีการทำงานร่วมกันร่วมกันแบบที่อาจไม่เคยทำร่วมกันมาก่อน โดยมีเป้าหมายร่วมที่ยิ่งใหญ่ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยร่วมกันสร้างต้นแบบ (Prototype) เพื่อทดลองเริ่มทำงานร่วมกันแบบใหม่ ลักษณะโครงการนำร่อง สร้างเครือข่าย สร้างวัฒนธรรมความร่วมมือ (Collaborative Culture)
  5. Post-Social Lab หรืออาจเรียกว่า Lab-In-Progress (ตามที่ระบุไว้ใน The Social Labs Fieldbook)  คือกระบวนการติดตาม สนับสนุน เสริมพลังให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้มีโอกาสทดลอง นำแนวคิด ต้นแบบ (Prototype) ที่ได้ร่วมกันคิด ออกแบบ วางแผนไว้ ไปสู่การทดลองปฏิบัติจริง (Prototype Testing) โดยการติดตาม สนับสนุน รวมถึงการสนับสนุนประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้องให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนด้านวิชาการ  การเก็บข้อมูล การวิจัย และอาจรวมถึงการสนับสนุนด้านทรัพยากรอื่น ๆ  เช่น งบประมาณ คน สถานที่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงอย่างต่อเนื่อง และเพื่อที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการจะได้นำประสบการณ์ ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ในกระบวนการ Social Lab เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Systems Change) ต่อไป กระบวนการติดตาม สนับสนุน เสริมพลังการขับเคลื่อน Post-Social Lab มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยหากขาดซึ่งกระบวนการนี้แล้ว จะมีโอกาสน้อยมากที่จะมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากผู้นำ ทั้งนี้เพราะผู้เข้าร่วมกระบวนการต่างมีบทบาท มีเป้าหมาย ที่ต้องรับผิดชอบต่อทีม ต่อองค์กร ต่อชุมชนของตนเองเป็นหลักอยู่แล้ว
  6. การจัดให้มีองค์กรหรือทีมงานสนับสนุนกลาง ที่ทำงานเป็นแกนกลางในการสนับสนุนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง จึงมีความสำคัญเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของร่างกายมนุษย์ ดั่งในศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Systems Change) ได้กำหนดเรียกชื่อองค์กรแกนกลางดังกล่าวไว้ว่า องค์กรกระดูกสันหลัง (Backbone Organization) การติดตามและสนับสนุน รวมถึงงานประสานงาน งานวิจัย วิชาการ การถอดบทเรียน และอาจรวมถึงการสนับสนุนปัจจัยด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นในการทดลอง เพื่อขยายทั้งส่วนผู้เข้าร่วม เครือข่ายและแนวคิดการปฏิบัติเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ การปฏิรูปเรื่องใด ๆ มักจะยากที่จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาสั้น ๆ หรือที่ในศาสตร์ด้านระบบเรียกว่า การหน่วงเวลา (Delay) เพราะการกระทำในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ได้เกิดผลในทันที การพัฒนา เรียนรู้จากการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันของผู้นำระหว่างทางที่ลงมือทำการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน สร้างผู้นำร่วม (Collective Leadership) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ (Collective Impact) สำหรับระยะเวลาทดลองอาจจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับประเด็น เรื่องที่สำคัญคือเมื่อได้มีการทดลองแล้วและได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง โดยมีเป้าหมายคือเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระยะยาว ผ่านการเรียนรู้กระบวนการการทดลองทำงานร่วมกัน สร้างวัฒนธรรมความร่วมมือ (Culture of Collaboration) มิใช่ผลสำเร็จของต้นแบบโครงการที่ทดลองทำแต่เพียงอย่างเดียว”

กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) สร้างให้เกิด

  1. การแก้ไขปัญหาที่โครงสร้างปัญหา และสาเหตุ – ไม่เพียงเฉพาะอาการ หรือผลกระทบเฉพาะหน้า
  2. การค้นหาทางออกด้วยการลงมือปฏิบัติจริง  – ไม่เพียงเสนอคำแนะนำ นโยบายบนกระดาษ
  3. ความร่วมมือแก้ไขปัญหาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง – ไม่เพียงเฉพาะผู้มีอำนาจ ผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ
  4. การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ – ไม่ต้องรอแผนที่สมบูรณ์แบบ หรือผลการศึกษาวิจัยแล้วจึงลงมือทำ (นโยบายกำหนดจากการลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่นโยบายนำการปฏิบัติ)
  5. การนำแนวคิดการปฏิรูปที่หลากหลาย ลงสู่การปฏิบัติเป็นโครงการนำร่อง เพื่อสร้างตัวอย่างความสำเร็จจากนั้นถอดกระบวนการทั้งการบริหารและผลที่เกิดขึ้นจากทุกปฏิบัติการ – ไม่เลือกเพียงแค่ทางเลือกหนึ่ง ทางเลือกใดเป็นคำตอบของการปฏิรูปก่อนผลการปฏิบัติจริง
  6. สร้าง Platform เพื่อการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติ เพื่อนำผลจากโครงการต่าง ๆ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ระดับโครงสร้าง – ไม่เพียงแค่ทำครั้งเดียวแล้วจบไป หากแต่เป็นการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง