ทำไมพื้นที่สร้างสรรค์จึงสำคัญต่อเยาวชน

ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ หน้าที่ “คน” มีส่วนร่วมป้องกัน
April 19, 2021
ทำไมต้องมีการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement
June 26, 2021

ปัจจุบันสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของเยาวชน เป็นพื้นที่ที่เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลหลายแง่มุมของสังคมที่เคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว และเกิดการรับสารอย่างฉับพลัน โดยไม่มีความจำเป็นในการพึ่งพาสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ หรือวิทยุอีกต่อไป ทำให้ลักษณะการใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ ดูจะกลายเป็นปัจจัยที่ห้าของเยาวชนยุคใหม่นี้ ซึ่งสร้างความสับสนแก่ผู้ใหญ่ในเรื่องของพฤติกรรมเยาวชน โดยมีแนวโน้มใช้เวลาส่วนมากกับหน้าจอสี่เหลี่ยม หรือเป็นอุปกรณ์ทางการเรียนของพวกเขาเหล่านั้น ทำให้เกิดการวิจารณ์ว่า “เด็กติดสมาร์ทโฟน ไม่สนใจสิ่งรอบตัว” หรือ “วัน ๆ ไม่ทำอะไรนอกจากเล่นโทรศัพท์” หากจะกล่าวโทษอุปกรณ์เหล่านี้ คงเป็นเพียงแค่สาเหตุส่วนย่อยเท่านั้น ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ แต่แท้จริงแล้วผู้ใหญ่ในสังคมเอง ได้เบียดเบียนพื้นที่สาธารณะของเยาวชนในการเปิดโอกาสให้เกิด “พื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชน” กระทั่งนำพื้นที่ไปใช้ในประโยชน์อื่น ซึ่งไม่ได้สนับสนุนให้เกิดพื้นที่ของชุมชนเพื่อการแลกเปลี่ยน กลับกลายเป็นสังคมที่แยกกันอาศัย เป็นคนแปลกหน้าในพื้นที่เท่านั้

            หากกล่าวถึงพื้นที่สร้างสรรค์นั้น หมายถึง พื้นที่แห่งการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกัน สร้างโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาตามวัยของเยาวชน โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของเด็ก ครอบครัว และชุมชน (ดีจัง Space, 2555) ซึ่งพื้นที่สร้างสรรค์แบ่งเป็นสองประเภท ประเภทแรก คือ พื้นที่ที่สามารถจับต้องได้ ซึ่งสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแบบ face to face กล่าวคือทุกคนอยู่พร้อมหน้า และทำกิจกรรมบางอย่างที่สนใจทางเดียวกันอยู่ด้วยกัน อาทิ ลานเสก็ต 7 เสมียนจากโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ “เบ็ดเสร็จ7เสมียน” เป็นพื้นที่ชุมชนอำเภอ 7 เสมียน จังหวัดราชบุรี ซึ่งเดิมเป็นศูนย์รวมของชุมชน มีตลาด ผู้คนมารวมตัวบริเวณนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ใกล้สถานีรถไฟมากที่สุด สามารถเดินทางเข้าเมือง หรือไปจังหวัดทางใต้ต่อได้โดยใช้ถนนสุขุมวิท พอเกิดโครงการตัดถนนสุขุมวิทสายใหม่ เพื่อลดระยะทางในการเดินทาง ก็ทำให้จังหวัดราชบุรีเงียบเหงาลง ไม่มีผู้คนจากต่างพื้นที่เดินทางเช้ามาอีก โครงการดังกล่าวจึงเข้ามาดำเนินการสร้างพื้นที่เล่นสเก็ต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กำลังนิยมในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ และคนกลุ่มอื่น ๆ ที่สนใจ เพื่อเพิ่มจำนวนคนเข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน เมื่อจำนวนคนเพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ ปัจจัยต่อมาที่จะได้รับการส่งเสริม คือ เศรษฐกิจของชุมชนเจ็ดเสมียนที่ได้จำนวนผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และดึงดูดให้กลุ่มค้าขายเข้ามาในพื้นที่ เพื่อสร้างผลกำไรให้กับตนเอง ซึ่งชุมชนก็จะได้ความหลากหลายของสินค้า กลุ่มคน การแลกเปลี่ยนในแง่ของความรู้ระหว่างวัย รวมไปถึงจำนวนการเข้ามาใช้พื้นที่ ซึ่งเกิดขึ้นเกือบตลอดทั้งวัน ทำให้ลดปัญหาของอาชญากรรม และพื้นที่ได้ใช้เกิดผลประโยชน์สูงสุด โดยช่วงเวลาบ่ายที่อาจจะมีจำนวนผู้คนเข้ามาน้อย กลับเพิ่มขึ้นด้วยกลุ่มคนที่ใช้ลานสเก็ตแทน

             ในส่วนของประเภทที่สองนั้น คือ พื้นที่สร้างสรรค์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ หมายถึง พฤติกรรมของบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย โดยไม่ได้เป็นการกระทำต่อหน้า อาจหมายถึงความสัมพันธ์ได้ด้วย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน การติดต่อเพื่อนในโลกออนไลน์อย่าง Twitter Facebook การแลกเปลี่ยนความคิดกันผ่าน Clubhouse ทำหน้าที่เสมือนเวทีเสวนาขนาดย่อมบนสมาร์ทโฟนของแต่ละคน การเปิดพื้นที่คุยระหว่างกลุ่มเพื่อนผ่าน Zoom เป็นต้น ทุกคนเพียงใช้อุปกรณ์ และความพร้อมของตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์ หรือช่วยสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เหล่านี้ขึ้นมาด้วยการชักชวนคนรู้จัก หรือคนอื่น ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน มาต่อยอดให้พื้นที่ขยายกว้าง เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการเป็นจุดสนใจของสังคมออนไลน์ไป

            การเกิดพื้นที่สร้างสรรค์นั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาตัวเอง และการเรียนรู้ตัวตนของเยาวชน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การได้ทดลองทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ ช่วยให้มองเห็นตัวตนที่ชัดเจน ฝึกฝนการใช้เหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง รวมทั้งความสนใจทางด้านการศึกษาต่อ หรือหน้าที่การงานในอนาคตได้อีกด้วย ปัญหาประการหนึ่งที่กลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่มักจะแสดงความคิดเห็น คือ เรื่องพื้นที่สาธารณะบริเวณพื้นที่ชุมชนของตนเอง ว่าไม่ได้รับการจัดการที่ดีกระทั่งไม่มีพื้นที่กลางให้เด็ก และเยาวชนใช้บริการ มาพบเจอกัน กลับเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่ทำหน้าที่พื้นที่ส่วนกลางแก่ผู้คนเท่านั้น หากประเทศไทยสามารถจัดสรรพื้นที่ดังกล่าวให้กับพื้นที่ชุมชนทั่วไป ไม่ว่าจะในลักษณะของสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น หรือแบบใดก็ตาม ควรคำนึงถึงการเข้าถึงของคนในพื้นที่ด้วย เมื่อมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมนั้น ก็เปิดโอกาสให้สร้างสรรค์อะไรที่แปลกใหม่ ส่งเสริมให้คนในพื้นที่ได้เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน เปลี่ยนพฤติกรรมคนพื้นที่ให้ทำความรู้จักร่วมกัน บางครั้งก็อาจจะเรียนรู้พาไปเจอโอกาสที่เกี่ยวกับความชอบ หรือตรงกับความสามารถตนเองได้ เช่น บิ๊กเข้ามาดูลานสเก็ตในชุมชนของตัวเอง แล้วเจอกับช่างถ่ายรูปมืออาชีพที่กำลังถ่ายรูปนักเล่นสเก็ตในลาน จึงอยากทำความรู้จักด้วย และสอบถามเกี่ยวกับการถ่ายรูป ซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นคนในพื้นที่เดียวกัน เลยพาไปออกทริปฝึกถ่ายรูปด้วยกัน เป็นต้น โอกาสสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ หลายครั้งที่เราไม่เห็นถึงของดีในพื้นที่ของตัวเอง เนื่องจากไม่ได้รับโอกาสในการแสดงออก พื้นที่ในการเข้าถึงกิจกรรอันสร้างสรรค์

            ฉะนั้นการเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ทั่วทุกชุมชนนั้น จะช่วยลดปัญหาหลากหลายปัจจัยทางสังคม อาทิ การมั่วสุม ตลาดชุมชนไม่มีผู้คนใช้บริการ พื้นที่ที่ไม่ได้รับการพัฒนา จำนวนคนในชุมชนลดลง และที่สำคัญยังเชื่อมความต้องการของเยาวชนในปัจจุบันอีกด้วย เพราะการเพิ่มพื้นที่สาธารณะในชุมชน สร้าง “ตลาด” กล่าวคือ แหล่งรวมซึ่งอาจจะเป็นผลงานศิลปะ วิชาการความรู้ เต้น Tik Tok นั่งปิกนิก หรือจัดคอนเสิร์ตขนาดย่อม ขึ้นอยู่ที่คนในชุมชนทุกวัยร่วมกันสร้างสรรค์ให้เป็นสิ่งใดก็ได้ ซึ่งจะดึงดูดกลุ่มคนผ่านเข้ามาสร้างบางอย่าง พัฒนาชุมชนไปพร้อมกัน

ต้นเรื่อง : ศุทธิมน อุนนาภิรักษ์
เขียนและเรียบเรียง : ศุภณัฐฐา ทรัพย์สำรวย