“รู้ว่าไม่ดี แต่หยุดทำไม่ได้” ความร้ายกาจของการเสพติด

อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ ร่วมกับ สสส. หนุน PDA และ ผู้นำชุมชนตำบลคลองพน จ.กระบี่ จัดค่ายเยาวชนสุขภาวะ ปั้นแกนนำพัฒนาชุมชน ลดปัจจัยเสี่ยง
August 4, 2022
ก่อการดี Newsletter เดือนกันยายน 2565
September 6, 2022

ข้อมูลจาก การบรรยาย เรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนไทยห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง โดย อาจารย์ปณัฐ เนรมิตตกพงศ์ ในกิจกรรมค่ายสุขภาวะเครือข่ายเยาวชนตำบลคลองพน จังหวัดกระบี่

ความหมายของการเสพติด
การเสพติด (Addiction) เสพ คือ การกิน การบริโภค การเข้าไปยุ่งกับมัน ติด คือ เลิกไม่ได้ หยุดไม่ได้ อยากหยุดก็หยุดไม่ได้ ดังนั้นการเสพติดแปลว่าการต้องบริโภค ทำอะไรบางอย่างแล้วหยุดไม่ได้ แม้รู้ว่ามันไม่ดี แต่ก็เลิกไม่ได้ “รู้ว่าไม่ดี แต่หยุดทำไม่ได้”

ประเภทของการเสพติด
แบ่งออกเป็น

  1. การเสพติดสารเสพติด (Chemical Addiction) เช่น บุหรี่ เหล้า ยาบ้า/ยาม้า กัญชา กระท่อม
    ยาแก้ไอ ยานอนหลับ ยาไอซ์ เห็ดขี้ควาย (บางอย่างเป็นของถูกกฎหมาย แต่ก็ยังคงเป็นสารเสพติด)
  2. การเสพติดพฤติกรรม (Behavior Addiction) เช่น
    2.1) การพนัน – ชนไก่ เล่นไพ่
    2.2) โซเชียล – เล่นโทรศัพท์
    2.3) เกม

เยาวชนต้องระวังการเสพติดพฤติกรรม ไม่ใช่ว่าเล่นโซเชียลไม่ได้ แต่ต้องเช็กตนเองว่า หากไม่เล่นโทรศัพท์แล้วเรากระวนกระวายหรือไม่ เช็กว่าเรื่องใดที่ไม่ดี แต่เรายังทำและเลิกไม่ได้ เราต้องขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ หรือคุณครู โดยเฉพาะการเสพติดสารเสพติด หากเรายังไม่ทันติด ก็ยังเลิกได้ แต่ถ้าติดสารเสพติดแล้วเลิกยากมาก

กระบวนการทำงานของสารเสพติด
สาเหตุที่คนเสพสารเสพติดแล้วหยุดไม่ได้ คือ กระบวนการของสารเหล่านี้กระตุ้นเคมีในสมอง ให้สมองหลั่งโดพามีนหรือสารแห่งความสุข ทำให้รู้สึกมีความสุขมาก ซึ่งปกติสารนี้ คนเรามีอยู่แล้ว โดยสารโดพามีนจะหลั่ง เมื่อได้รับคำชม เจอเรื่องดี ๆ แต่สารเสพติด ไม่ได้เกิดจากกระบวนการธรรมชาติ แต่เกิดจากการเสพ หรือเป็นการบังคับให้ตัวเองมีความสุข อัตราโดพามีนที่ออกมาประมาณ 150-200% ทำให้มีความสุขเยอะขึ้นแบบมหาศาล แต่สารไม่ได้อยู่กับเราตลอดชีวิต ความร้ายแรงของสารเสพติด เปรียบเสมือนการขึ้นที่สูง เมื่อสารหมดฤทธิ์ก็จะตกลงมา คล้ายกับการตกจากตึกสูง ครั้งต่อไปที่ต้องใช้สาร กว่าระดับความสุขจะขึ้นมาในระดับปกติก็จะต้องใช้ความพยายามสูงขึ้น วิธีทำให้ความสุขขึ้นเร็ว ๆ คือการเสพอีกหลาย ๆ ครั้ง หรือเสพมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเสพไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มรู้ว่า ยิ่งเสพก็ยิ่งไม่พอ หากตกเข้าไปสู่วงจรนี้จะไม่สามารถปีนขึ้นมาได้ จึงเป็นความอันตรายของสิ่งเสพติดที่พี่ไม่อยากให้ไปยุ่งเกี่ยว

ปัจจัยกระตุ้นการเสพติด

  1. พันธุกรรม/สมอง เรื่องของการควบคุมอารมณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เนื่องการทำงานของสมองส่วนควบคุมอารมณ์แตกต่างกัน บางคนมีความยับยั้งชั่งใจน้อย คนที่มีความผิดปกติแบบนี้ก็จะเสพติดง่าย
  2. ครอบครัว บางคนเกิดมาในครอบครัวที่ทำร้าย ไม่มีชีวิตที่มีความสุข รู้สึกว่าตนเองไม่มีทางเลือก วิธีในการมีความสุข คือ การเสพติด
  3. พฤติกรรมส่วนตัว เช่น บุคลิกเป็นคนชอบเสี่ยง ไม่มีสติยั้งคิด อยากได้อะไรก็ทำ เพื่อนท้าแล้วยอมไม่ได้
  4. สิ่งแวดล้อม เช่น เติบโตมาในครอบครัวที่ หรือในพื้นที่ที่มีการซื้อขายยาเสพติด

การป้องกันจากสารเสพติด
เนื่องจากคนที่เสพติด คือคนที่ไม่มีความสุขได้ด้วยตัวเอง วิธีช่วย คือ พาเขาออกมาทำสิ่งที่ทำให้มีความสุข เมื่อมีความสุขแล้วก็จะไม่ต้องพึ่งสารกระตุ้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขง่ายที่สุด คือ การทำประโยชน์ให้ผู้อื่น หากเราเป็นแกนนำ เราใช้ชีวิตด้วยการคิดว่า “เราตื่นขึ้นมาแล้วจะทำประโยชน์ให้คนอื่นอย่างไร” สิ่งเสพติดจะไม่มีทางมายุ่งกับเราได้

ในการขับเคลื่อนของ Imagine Thailand Movement จึงเน้นความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ และเข้าใจในโทษของการเสพติด และมุ่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเสพติด