วิกฤตในวิกฤตโควิด 19 ปัจจัย 4 ก. – 4 V. ความท้าทายเชิงระบบที่ซับซ้อน

ทำไมต้องมีการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement
June 26, 2021
7 แนวทางการสื่อสาร ของผู้นำในภาวะวิกฤต
August 21, 2021

8  สิงหาคม 2564

โดย  ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก ผู้ก่อตั้ง Social Lab ประเทศไทย และผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement

วิกฤตโควิด 19 เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบที่ 1 ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมปี 2563 ประมาณ 3-4 เดือนหลังจากที่ได้เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลก ความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ได้สร้างให้เกิดความสูญเสีย สร้างให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เนื่องจากยังไม่มีใครรู้จักไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ ไม่ข้อมูลที่แน่ชัดถึงต้นกำเนิดของการแพร่ระบาด รวมถึงวิธีการจัดการจำกัดการแพร่ระบาด รัฐบาลแต่ละประเทศจึงได้มีมาตรการที่แตกต่างกันไป เพื่อเป็นการจำกัดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น บางประเทศมีความเชื่อว่า โควิด 19 คือโรคหวัดชนิดหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดอะไรมาก และสำหรับรัฐบาลของเราได้เลือกใช้มาตรการที่เข้มงวด เคร่งครัด ปิดเมือง จำกัดการเดินทาง มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ต่อมามีประกาศห้ามออกนอกเคหะสถานยามวิกาล ตั้งแต่คืนวันที่ 3 เมษายน

ด้วยมาตรการที่เข้มงวด ความร่วมมือที่ดีของคนไทย รวมถึงการที่เรามีเครือข่ายระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้เราสามารถจำกัดการแพร่ระบาดได้ดี จนได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศ อนึ่งความสำเร็จจากการจำกัดการแพร่ระบาดครั้งนั้นก็แลกมาด้วยผลกระทบด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ความเป็นอยู่

เมื่อมาถึงการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลจึงลังเลที่จะใช้มาตรการที่เคร่งครัด รวมถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเราอาจติดกับดักความสำร็จ (Success Trap) ของตนเอง ซึ่งเชื่อว่าเราจะสามารถจำกัดการแพร่ระบาดได้เหมือนกับการแพร่ระบาดในครั้งแรก รวมถึงการแพร่ระบาดในครั้งที่ 2 เมื่อช่วงปลายปี 2563 ประกอบกันความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นว่าเราเริ่มที่จะรู้จักไวรัสโควิด 19 มากขึ้น รู้ถึงวิธีการแพร่ระบาด รวมถึงมีการคิดค้นพัฒนาวัคซีนจนสำเร็จ

รัฐบาลจึงได้เลือกที่จะใช้มาตรการที่ไม่เคร่งครัดเหมือนในคราวแรก เปิดให้ประชาชนที่มาใช้ชีวิต ทำงานในกรุงเทพฯ ได้เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยทำเพียงขอความร่วมมือให้เว้นระยะห่างทางสังคมและร่วมกันเฝ้าระวังตนเอง เป็นเหตุให้การแพร่ระบาดในรอบที่ 3 เป็นการแพร่ระบาดที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดมาในประเทศไทย

การแพร่ระบาดในรอบที่ 3 นี้ต่างจากการแพร่ระบาดใน 2 รอบที่ผ่านมาซึ่งเป็นการแพร่ระบาดที่เกิดในบริเวณพื้นที่จำกัด การแพร่ระบาดครั้งนี้ได้กระจายตัวไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ยากในการที่จะติดตามจัดการ รวมถึงเร่ิมเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้นเป็นลำดับ

จนถึงปัจจุบัน วันที่ 8 สิงหาคม 2564 การแพร่ระบาดทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะดูแลได้อย่างทั่วถึง มีผู้ป่วยที่ไม่สามาถเข้าถึงการรักษาพยาบาลจำนวนมาก สถานพยาบาลและบุคลากรด้านสาธารณสุขมีไม่เพียงพอ การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยป่วยหนักขึ้น มีการสูญเสียชีวิตมากขึ้น ทำให้ประชาขนได้รับผลกระทบจำนวนมาก ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ก่อให้เกิดวิกฤตในวิกฤต

จากบทเรียนจนถึงปัจจุบันรวมถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พอจะสรุปวิกฤตในวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน วิกฤตที่ซับซ้อนยุ่งยากขึ้น ทำให้การจัดการวิกฤตโควิด 19 ในรอบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยมีปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตอยู่ 4 ปัจจัย จำแนกได้เป็น 4 “ก” หรือ 4 “V” ดังนี้

1. กลายพันธุ์ Variant การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด 19 ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น รวมถึงอาการ การแสดงออกไม่ชัดเจนทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ทราบว่าตนติดเชื้อจึงนำเชื้อไปแพร่กระจายโดยไม่รู้ตัว ทำให้การระบาดเกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อนอย่างมากมาย รวมถึงความรุนแรงของเชื้อทำให้ผู้ติดเชื้ออาจเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว

2. กระจายวัคซีน Vaccinate ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด 19 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ การกระจายวัคซีนยังไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงครอบคลุม ตามที่ทราบในขณะนี้มาตรการสำคัญในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง คือการได้รับวัคซีน และเพื่อสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ประชากรในประเทศจำเป็นต้องได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า 50% โดยประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะกระจายวัคซีนให้ครบ 50 ล้านคนภายในสิ้นปี 2564 มีคนจำนวนมากต้องการที่จะรับวัคซีน

ขณะเดียวกันก็มีคนที่ปฏิเสธที่จะรับสาเหตุมาจากความกังวลถึงผลข้างเคียงจากวัคซีน ซึ่งต้องให้ความรู้ทำความเข้าใจต่อไป อย่างไรก็ดีความท้าทายขณะนี้คือแจกจ่ายวัคซีนที่มีอยู่ให้ดีที่สุด รวมถึงการเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความต้องการวัคซีนทั่วโลกก็ยังมีอยู่อย่างมาก ในขณะนี้ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถจัดหาและกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ภาครัฐจึงควรต้องปรับยุทธศาสตร์ด้านการกระจายวัคซีนจากการปูพรหม เป็นแบบการกระจายเฉพาะกลุ่ม Strategic Distribution เช่นเน้นเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว บุคลากรด้านสาธารณสุข รวมถึงการแจกจ่ายวัคซีนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง

3. กระทบ Vulnerable ผู้เปราะบางในสังคม ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง วิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ที่ว่ารุนแรงแล้ว วิกฤตผลกระทบจากโควิด 19 น่ากลัวและจะยืดยาวกว่า ปัญหาความท้าทายในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ผู้ป่วย ผู้ที่สูญเสียบุคคลที่รักบุคคลในครอบครัว การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายโดยเฉพาะในภาวะวิกฤต ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพกายและใจมีจำนวนมาก ผลกระทบจากผลกระทบซ้ำเติมหลากหลายทาง ด้านสังคมความเป็นอยู่ การศึกษาเด็กนักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงภาคการเกษตร ธุรกิจห้างร้านปิดตัวลง ส่งผลต่อการจ้างงานมีคนตกงาน ขาดรายได้จำนวนมาก ปัญหาเรื่องหนึ้สิน กระทบต่อเนื่องไปในด้านอื่นๆ

4. กลัว โกรธ Vacillator ความกลัว ความโกรธที่เกิดขึ้นจากภาวะวิกฤตโควิด 19 ทำให้การจัดการจำกัดการแพร่ระบาดยุ่งยากมากยิ่งขึ้น กระแสความกลัว ความกังวลของในสังคมก่อให้เกิดความไม่พอใจ เกิดวิกฤตศรัทธา ทำให้คนไทยเกิดความลังเล ขาดความเชื่อมั่น ขาดความไว้วางใจ ตั้งแต่ความเชื่อมั่นในการจัดการการแพร่ระบาด ความเชื่อมั่นในคุณสมบัติของวัคซีน ความกลัวถึงผลข้างเคียงจากวัคซีนจนลังเลที่จะรับวัคซีน เรื่องนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หากแต่เกิดขึ้นทั่วไป ซึ่งทุกฝ่ายควรทำความเข้าใจในความท้าทายนี้ สร้างให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้วยความเมตตาเห็นใจ

วิกฤตโควิด 19 ยังทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย มีผู้ฝ่าฝีนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติต่างๆ มีคนหาประโยชน์ ฉวยโอกาส ขณะที่มีผู้ขาดโอกาสในวิกฤตจำนวนมาก ก่อให้เกิดความไม่พอใจ ความโกรธ ซ้ำเติมให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต มีคำถามเรื่องความโปร่งใสในการจัดหา การบริหารจัดการ การเข้าถึงความช่วยเหลือและการแจกจ่ายวัคซีน โดยขณะนี้ภาพผู้ที่เข้าคิวรอตรวจเชื้อ ผู้ป่วยที่รอเตียง รอความช่วยเหลือ รวมถึงผู้ที่ต้องเสียชีวิตบนถนน เสียชีวิตภายในบ้าน สถานการ์ที่เกิดขึ้นได้ก่อให้เกิดความกลัว ความกังวลขึ้นอย่างมากมายในสังคม

ปัญหาวิกฤตโควิด 19 เป็นปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้โดยลำพัง จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนในสังคม ภาครัฐควรจะเร่งดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในสังคม สร้างให้เกิดภาวะผู้นำแบบรวมหมู่ ผู้นำร่วม Collective Leadership เพื่อสร้างให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา เพื่อลดปัจจัยที่จะก่อให้เกิดวิกฤตในวิกฤต และเพื่อให้เราสามารถรวมพลังคนไทย เพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด 19 ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนมีจำนวนมากความสับสนกันอย่างมาก ทั้งข่าวจริง ข่าวปล่อย ข่าวปลอม ข่าวร้าย โดยในเบื้องต้นตามข้อมูลวิทยาศาสตร์ทั่วโลกคงจะยืนยันได้ว่าวัคซีนทุกชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทยยังคงมีผลต่อการช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากหนักเป็นเบาได้จากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหนก็ตาม ดังนั้นการรับวัคซีนดีกว่าไม่รับ ยังคงใช้ได้จริงในขณะนี้

ในเบื้องต้นขอทุกคนได้โปรดดูแลผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวในบ้านให้ปลอดจากไวรัส ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลตนเอง รวมถึงวัคซีน และหากเป็นไปได้ขอให้ช่วยกันจัดให้ผู้ใหญ่ที่เรารักและเคารพได้รับวัคซีนตามการจัดสรรต่อไป ขอให้ทุกคนช่วยกันสื่อสารเริ่มจากคนที่เรารักก่อน

ด้วยความปรารถนาดี กำลังใจสำคัญเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางวิกฤต

ขอเชิญทุกท่าน #ร่วมส่งต่อพลังงานบวก รวมพลังยับยั้งวิกฤตในวิกฤตร่วมกัน เริ่มจากตนเอง คนที่ท่านรัก และขยายวงออกไปสู่คนรอบข้างและสังคมไทยต่อไป

เพื่อรวมพลังฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปด้วยกันครับ…