พื้นที่สร้างสรรค์

จากการคิดเป็นโปรเจคใหญ่ที่อยากเห็นพื้นที่ 7 เสมียนมีความเปลี่ยนแปลง และสร้างความมีส่วนร่วมในชุมชน อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดสร้างความยั่งยืนด้วยการให้คนในชุมชนอยู่ดูแลและพึ่งพิงได้ด้วยตัวเองต่อไปในอนาคตซึ่งดูจะไปได้ดีในช่วงต้น

แต่แล้วด้วยความที่โปรเจคนี้อาจจะใหญ่ไปจนเกินที่จะรับมือไหว นำไปสู่การทิ้งร้างไประยะเวลาหนึ่ง สู่การระดมกันจากสิ่งที่ถนัดกันคนละเล็ก คนละน้อย แล้วค่อยๆ รวมตัวกัน จนพื้นที่เริ่มกลับมามีชีวิต จนเริ่มมีกิจกรรมที่หลากหลาย จนเริ่มเกิดแผนที่ยั่งยืน มาวันนี้สิ่งที่ทำให้ยั่งยืนได้นอกจากความหวังแล้ว สายสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการยังทำอยู่ ผ่านการช่วยเหลือของทุกฝ่ายที่ไม่ปล่อยมือกัน วันนี้คุณมานพ มีจำรัส ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2548 จะมาถ่ายทอดความเป็นมาของพื้นที่สร้างสรรค์จากจุดเล็กๆ นี้

เมื่อฝันใหญ่ อาจจะไม่เวิร์คเสมอไป

  จากเดิมที่คิดจะสร้างลานเสก็ตเจ็ดเสมียนที่มีตลาดนัดขนาดใหญ่ ถึงแม้จะเป็นความฝันที่ทุกคนต่างตื่นเต้นก็จริง แต่เมื่อความฝันนั้นใหญ่เกินไป ทุกคนต่างตกใจกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ อีกทั้งสถานการณ์โควิดที่กำลังระบาด ทำให้โครงการนั้นยังไม่เสร็จเป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร ลานเสกตเริ่มปล่อยทิ้งร้างไม่เสร็จเสียที

เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่บ้านดิน

              แต่พื้นที่สร้างก็ยังจำเป็นต้องทำต่อไป เมื่อเห็นเด็กนั่งแบบไม่มีอะไรทำ ถ้าหาพื้นที่ให้เด็กได้ทำอะไรบ้างก็คงดี แต่ก็เริ่มตระหนักได้ว่าถ้าทำโครงการแบบเดิมก็จะได้แบบเดิม จึงลองเริ่มจากสิ่งที่ตนเองทำได้ อย่างการเริ่มเปิดบ้านของตนเองอย่างบ้านดิน

จากบ้านดินสู่ลานริมน้ำ

              โมเดลบ้านดินจึงเริ่มกำเนิดขึ้น เริ่มเปิดพื้นที่ให้คนที่สนใจทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายขนมเปี๊ยะ ทำกาแฟดริป ร้อยพวงมาลัยจากทิชชู่ ทำข้าวซอยหรือสิ่งอื่นๆ ส่วนพี่นายเองด้วยความที่สนใจศิลปะการแสดง จึงเชิญคนที่มีความรู้เรื่องนี้มาถ่ายทอดประสบการณ์ถึงสิ่งที่ได้ในชีวิต ศิลปะช่วยเยียวยาจิตใจได้อย่างไร ประกอบกับการฟ้อนและนุ่งโจงกระเบนให้ผู้ที่สนใจให้ชม

พื้นที่เชื่อมวัย จากผู้ใหญ่สู่เด็ก

เมื่อพื้นที่เล็กๆ เหล่านี้กลายเป็นพื้นที่อิสระทางความคิด ไม่จำกัดความคิด ไม่มีกำแพง เชื่อว่าทุกอย่างที่คนทำนั้นดีทั้งหมด จึงได้มองมุมใหม่ มองเห็นความดีของทุกๆ คน ทำให้ไม่ว่าวัยไหนก็มีความสุขอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อความสุขเกิดขึ้นอีกครึ่งหนึ่ง จึงได้เกิดพื้นที่ที่มีทั้งผู้ใหญ่เข้ามาทำสิ่งที่แต่ละคนถนัด แล้วแต่ละคนมาเด็กมานั่งฟังด้วย เด็กก็มาฟังบ้าง ทำการบ้านบ้าง วิ่งเล่นบ้าง สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันจนเป็นความสัมพันธ์ที่สวยงาม

แผนระยะยาวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

              จากบ้านดินสู่การขยับขยายไปวงกว้างมากขึ้น เริ่มไปสู่ตลาดน้ำ และกำลังมีแผนที่จะจัดเทศกาล ซึ่งสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับคนในหมู่บ้านเจ็ดเสมียน แผนระยะยาวนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดการร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้าน และแรงหนุนจากทาง Imagine Thailand สายสัมพันธ์ระหว่างกันจึงสำคัญมากในการทำสิ่งที่สำคัญกับสังคมไทยอย่างพื้นที่สร้างสรรค์

การรับฟังเป็นหัวใจของทุกสิ่ง

สุดท้ายนี้พื้นที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นได้จากการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อย่ายึดติดกับสิ่งที่ตนเองคิด จนไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของอื่น การได้ลองปรับเปลี่ยนมุมมองบ้างจะทำให้ทุกคนมารวมตัวกันและเกิดความยั่งยืน